Ads 468x60px

Labels

วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ร.ศ. ๑๑๒

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112

            เป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศสในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2436 จากการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศลาวในปัจจุบัน) ผู้มีบทบาทสำคัญในวิกฤตการณ์ครั้งนี้คือนายโอกุสต์ ปาวี รองกงสุลฝรั่งเศสประจำนครหลวงพระบาง ซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญในการแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายฝรั่งเศสในดินแดนลาว โดยใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของสยามที่ไม่สามารถดูแลหัวเมืองชายแดนได้ทั่วถึง การก่อกบฏในเวียดนามที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ การปราบฮ่อซึ่งแตกพ่ายจากเหตุการณ์กบฏไท่ผิงในจีน และการทวีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสยามกับรัฐบาลฝรั่งเศสที่กรุงปารีส
             ผลของวิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้ฝ่ายไทยจำต้องยอมยกดินแดนลาวฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส นับเป็นการขยายอิทธิพลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของฝรั่งเศสในภูมิภาคอินโดจีน และนำไปสู่การสูญเสียดินแดนประเทศราชของไทยในเขมรและลาวที่เหลืออยู่ในเวลาต่อมาอีกด้วย

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)

            เมื่อฝรั่งเศสได้ครอบครองดินแดนสิบสองจูไทยแล้ว โดยที่ยังไม่มีการเจรจาปักปันเขตแดนกับไทยการเจรจานี้ได้ยุติลง เมื่อฝรั่งเศสมีนโยบายจะขยายอาณาเขตของตนออกไปจนถึงฝั่งแม่น้ำโขง โดยจะยึดดินแดนทั้งหมดบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ตั้งแต่ภาคเหนือของลาวจนถึงชายแดนเขมร เมื่อฝรั่งเศสยึดดินแดนสิบสองจูไทยได้นั้น ก็เริ่มสำรวจดินแดนลาวอีกครั้ง และสร้างอิทธิพลในหมู่ชาวลาวด้วยการผูกมิตรและหาเหตุมาขัดแย้งกับไทยอยู่เสมอ ฝ่ายไทยเห็นว่าฝรั่งเศสต้องการยึดดินแดนเพิ่มจึงเตรียมรับมือ เช่นปรับปรุงการปกครองหัวเมืองฝ่ายตะวันออกให้เข้มแข็งรัดกุมขึ้น โดยเฉพาะเมืองจำปาศักดิ์ หนองคาย และหลวงพระบาง การเกณฑ์ทหารและเตรียมการป้องกันชายแดน ฝรั่งเศสจึงฉวยโอกาสว่าไทยเตรียมจะทำสงคราม และแต่งตั้งนายโอกุสต์ ปาวี เป็นราชทูตประจำกรุงเทพฯ ซึ่งสร้างความวิตกให้กับฝ่ายไทย เพราะนายปาวีรู้จักดินแดนเขมรและลาวในทุกๆด้าน และเป็นนักจักรวรรดินิยม เมื่อนายโอกุสต์ ปาวีเข้ามารับตำแหน่งก็เริ่มการเจรจาปัญหาเก่าๆกับกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งเรื่องการปักปันเขตแดนสิบสองจูไทย โดยจะนำแผนที่มาแสดงเขตแดนของตน แต่ต่อมานายโอกุสต์ ปาวี ก็หาเหตุไม่ยอมเจรจาด้วยอ้างว่าทหารไทยบุกรุกดินแดนส่วนนั้นของฝรั่งเศสทำให้การเจรจาล้มเลิกไป ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2436นายโอกุสต์ ปาวี ได้ประกาศว่าฝรั่งเศสถือว่าดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงทั้งหมดเคยเป็นเมืองที่ส่งบรรณาการให้แก่ญวนมาก่อนจึงไม่เป็นส่วนหนึ่งของไทย พอถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสได้อ้างสิทธิครอบครองดินแดนลาวพร้อมกับส่งกองทัพเข้าไป กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการจึงเสนอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการตัดสินปัญหาต่างๆ ที่ไทยกับฝรั่งเศสเจรจาตกลงกันไม่ได้ ฝรั่งเศสไม่รับข้อเสนอนั้น และใช้นโยบายเรือปืนเพื่อบีบบังคับไทยโดยส่งเรือรบ เลอ ลูแตง (Le Lutin) เข้ามาจอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศสซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรอคำตอบจากรัฐบาลไทย ท่าทีคุกคามของฝรั่งเศสทำให้ไทยเร่งจัดการป้องกันกรุงเทพฯ และปากน้ำให้รัดกุมยิ่งขึ้น และทำการป้องกันรักษาพระราชอาณาเขตหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออก โดยส่งทหารไปประจำที่เกาะกง แหลมงอบ และสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าที่แหลมฟ้าผ่า และขอความช่วยเหลือจากอังกฤษแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพราะอังกฤษไม่ต้องการเข้าไปแทรกแซงระหว่างฝรั่งเศสกับไทย

           วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 รัฐบาลฝรั่งเศสได้แจ้งแก่ฝ่ายไทยว่า ผู้การโบรี (Bory) จะนำเรือปืนแองกงสตอง (Inconstant) และเรือโกแมต (Comete) เข้ามายังกรุงเทพฯ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ทรงคัดค้านว่าละเมิดสนธิสัญญาฉบับ พ.ศ. 2399 ในวันที่ 11 กรกฎาคม เรือทั้งสองลำจึงมุ่งหน้ามากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทย จึงได้เกิดการต่อสู้บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้าและป้อมผีเสื้อสมุทร ต่างฝ่ายได้รับความเสียหาย โดยฝรั่งเศสสามารถฝ่ากระสุนเข้ามาจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสได้และยื่นคำขาดต่อไทยดังนี้
            1.ไทยต้องเพิกถอนสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะต่างๆตั้งแต่ภาคเหนือของลาวไปจนถึงพรมแดนเขมร
            2. ให้ไทยรื้อถอนด่านทั้งหมดบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้เสร็จภายใน 1 เดือน
            3. ให้ไทยจัดการปัญหาทุ่งเชียงคำ เมืองคำพวน และความเสียหายที่เรือรบฝรั่งเศสและชาวฝรั่งเศสได้รับจากการปะทะกัน
            4. ให้ไทยลงโทษเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่รับผิดชอบในการยิงปืนที่ปากน้ำ
            5. ให้ไทยชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวฝรั่งเศสเป็นเงิน 2 ล้านฟรังก์

            ฝ่ายไทยจึงยอมรับทุกข้อยกเว้นข้อ 1 ทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจจึงถอนคณะทูตออกจากประเทศไทย และเรือรบได้ไปยังเกาะสีชังและปฏิบัติการปิดอ่าวไทย จึงเป็นเหตุให้ไทยรับเงื่อนไขคำขาดโดยไม่ต่อรองใดๆ เพื่อให้ฝรั่งเศสยุติการปิดอ่าว แต่รัฐบาลฝรั่งเศสกลับยื่นเงื่อนไขเพิ่มเติมที่รุนแรงขึ้น คือ เรียกร้องจะเข้ายึดครองแม่น้ำและท่าเรือจังหวัดจันทบุรี และไทยต้องไม่มีกำลังทหารอยู่ที่พระตะบอง เสียมราฐ และบริเวณรัศมี 25 กิโลเมตรบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ฝ่ายไทยจึงยอมรับเงื่อนไขที่เพิ่มเติมมาแต่โดยดี หลังจากนั้นฝรั่งเศสได้ส่งผู้แทนรัฐบาลมาเจรจาขอทำสนธิสัญญาเพื่อยุติกรณีพิพาท ร.ศ. 112 ในร่างสัญญาดังกล่าวไทยมีข้อเสียเปรียบหลายประการโดยเฉพาะเมืองจันทบุรี มีสาระสำคัญดังนี้
            1. รัฐบาลไทยสละสิทธิทั้งหมดในดินแดนบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะต่างๆในแม่น้ำนั้น
            2. ห้ามรัฐบาลไทยส่งเรือรบเข้าไปในทะเลสาบ ในแม่น้ำโขง และลำน้ำที่แยกมา
            3. ห้ามรัฐบาลไทยสร้างด่านหรือค่ายทหารในเมืองพระตะบอง และเสียมราฐ
            4. ฝรั่งเศสสงวนสิทธิจะตั้งกงสุล ณ ที่ใดก็ได้ โดยเฉพาะที่น่านและโคราช

            โดยฝรั่งเศสจะยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันจนกว่าไทยจะปฏิบัติตามสัญญาจนครบ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนครั้งที่สำคัญของไทยคือ ราชอาณาจักรลาวเกือบทั้งหมด รวมทั้งสิบสองจูไทยต้องตกอยู่ใต้ปกครองของฝรั่งเศส รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 143,800 ตารางกิโลเมตร พลเมืองประมาณ 600,000 คน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ขออบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจ....ปุนจา ศรีกงพาน ครู กศน.ตำบล

 
 
Blogger Templates